GIT News
GIT ลงนาม MOU บูรณาการความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มทร. ยกระดับงานวิจัย และสร้างมาตรฐานห้องปฏิบัติการตาม GIT Standard
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน
ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย ผศ.ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ เรื่อง การดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาวัสดุ และกระบวนการผลิตเครื่องประดับและโลหะมีค่า ณ ห้องบุษราคัม ชั้น 2 สำนักงานคณบดี
อาคารปฏิบัติการคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (อาคาร 36) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการวิจัยและพัฒนาวัสดุ
และกระบวนการผลิต รวมทั้งการตรวจสอบเครื่องประดับและโลหะมีค่าตามมาตรฐาน GIT standard โดยมีนายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการสถาบัน และ ผศ.ดร.สุรัตน์ วรรณศรี รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เป็นสักขีพยานในการลงนาม
สถาบันได้วางยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย
ส่งเสริมกิจกรรมด้านการตลาด การยกระดับฝีมือแรงงาน การเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการและบุคลากรของอุตสาหกรรทในทุกๆ ด้าน นอกจากนี้สถาบันยังเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้อยู่ในชั้นแนวหน้าของโลกได้อย่างยั่งยืนในเวทีสากล
คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตและพัฒนาบุคลากรให้กับอุตสาหกรรม รวมถึงมีห้องปฏิบัติการวิจัยพัฒนาวัสดุตัวเรือนเครื่องประดับ
สำหรับผลิตงานวิจัยและงานวิชาการเพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่นในการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับแก่ผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ และผู้บริโภค ในฐานะที่สถาบันเป็นหน่วยงานที่พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรม
การลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานที่เกิดขึ้นนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นด้านการมุ่งเน้นมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า งานวิจัย การบริการทางวิชาการ การพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ
โดยให้สามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับไปประยุกต์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้